Q:  

เก็บข้อมูลจากเวชระเบียน โดยที่ไม่ยุ่งกับคนไข้เลย, งานวิจัยด้าน AI วิเคราะห์ภาพ x-ray ว่ามีรอยโรคหรือไม่
จะต้องขออนุญาตหรือ ทำอะไรเพิ่มไหม

A:  

โดยหลักการต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิจัย เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และตามหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมการวิจัยในคน เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต่อผู้วิจัยโดยไม่ได้มีการอนุญาตไว้ก่อน เจ้าของข้อมูลได้แจ้งข้อมูล / ยินยอมให้ถ่ายภาพรังสีเพื่อการรักษาพยาบาลตนเอง ไม่ใช่เพื่อการวิจัย ผู้เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลจึงไม่ควรนำข้อมูลของผู้ป่วยที่ให้ไว้ไปส่งต่อให้ผู้อื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต

      

ในทางปฏิบัติย่อมเป็นความยากที่จะตามกลับไปขอข้อมูลจากเจ้าของข้อมูล นอกจากนี้การที่ผู้เก็บรักษาข้อมูลแจ้งวิธีการติดต่อ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือวิธีการอื่นที่ใช้ในการติดต่อ เช่น email address, line ID (ถ้ามี) ให้แก่ผู้วิจัย ก็เป็นการเปิดเผยตัวตนก่อนการได้รับอนุญาตเช่นกัน เพราะการที่ผู้ป่วยแจ้งวิธีการติดต่อ

      

ตัวเขาไว้ในเวชระเบียน ก็เพื่อการรักษาพยาบาล มิได้อนุญาตให้นำไปให้ผู้อื่นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ดังนั้น CIOMS จึงได้แนะนำให้มีการขอความยินยอมแบบกว้าง (Broad consent) ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวิจัยได้เพื่อประโยชน์ที่จะได้สร้างความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนาการรักษาโรคและคุณภาพชีวิต โดยกำหนดข้อความที่ระบุข้อความในหนังสือแสดงเจตนายินยอมแบบกว้างไว้เป็นมาตรฐาน (CIOMS 2016 guideline 11,12) เพื่อลดภาระในการขอความยินยอมแก่ผู้วิจัย แต่ทุกโครงการที่จะมีการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวิจัยเช่นนี้ (มักจะเป็นการศึกษาย้อนหลัง – retrospective study) จะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนประจำสถาบันก่อนเสมอ คณะกรรมการจริยธรรมฯ จะพิจารณาว่าการขอความยินยอมแบบกว้างนั้นเพียงพอหรือไม่ หากเป็นเรื่องอ่อนไหว หรือมีความเสี่ยงต่อเจ้าของข้อมูล อาจมีความจำเป็นที่จะต้องขอความยินยอมซ้ำอีก ในการติดต่อเจ้าของข้อมูลเพื่อขอความยินยอมซ้ำ เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล) ดังนั้นผู้ควบคุมข้อมูล

      

ส่วนบุคคล (ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาล) จะต้องเป็นผู้ติดต่อแจ้งเจ้าของข้อมูล (ผู้ป่วย) เป็นเบื้องต้น ว่ามีผู้วิจัยต้องการนำข้อมูลไปใช้ เจ้าของข้อมูลจะอนุญาตให้แจ้งวิธีการติดต่อให้ผู้วิจัย เพื่ออธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและขอความยินยอมโดยตรงได้หรือไม่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงให้ข้อมูลเพื่อการติดต่อแก่ผู้วิจัยเพื่อดำเนินการต่อ

      

เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามเกณฑ์ทางจริยธรรมการวิจัยในคน โรงพยาบาลควรจัดเจ้าหน้าที่มาเป็นผู้ติดต่อผู้ป่วยเพื่อแจ้งข้อมูลเบื้องต้นแก่เจ้าของข้อมูล ในกรณีที่จำเป็นที่จะต้องให้ผู้วิจัยติดต่อกับผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของข้อมูล ทั้งในกรณีข้อมูลที่เก็บไว้ก่อนหน้า (Retrospective study) และ โครงการวิจัยใหม่ที่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพิ่มเติมแม้ว่าจะได้ให้ความยินยอมแบบกว้างไว้แล้วก็ตาม

      

มาตรา 21 ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ก่อนหรือในขณะที่เก็บรวบรวม การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่แตกต่างไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่

      

(1) ได้แจ้งวัตถุประสงค์ใหม่นั้นให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบและได้รับความยินยอมก่อนเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยแล้ว

      

(2) บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้

 
 

โปรดพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ทำแบบประเมินเพื่อสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการที่มีต่อการให้บริการของศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง